2642 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติหลวงพ่อเปิ่น พระสงฆ์ของประชาชน
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ ( พระอุดมประชานาถ )
นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์ เกิดวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2466 เดือน 9 ปีกุน ณ บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายฟัก นางยวง ภู่ระหงษ์ เป็นบุตรคนที่ 9 ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันรวม 10 คน หลวงพ่อเปิ่นสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์ มาตั้งแต่สมัยเด็กอาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระ ซึ่งยุคนั้นมีพระคุณเจ้าที่จำพรรษาอยู่ที่วัดบางพระมีความเก่งกาจเชี่ยวชาญในสายไสยศาสตร์ หลายองค์ เด็กชายเปิ่นจึงเข้าออกเพื่อความอยากรู้อยากใฝ่หาวิชาอยู่ในวัดบางพระเป็นประจำ
นายเปิ่น ศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก ได้รับการถ่ายทอดยาสมุนไพรรักษาโรค คาถาอาคมต่างๆ โดยเฉพาะวิชาสักยันต์อันเลื่องลือจากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระซึ่งท่านรักและเมตตาศิษย์คนนี้เป็นพิเศษ ท่านจึงถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้โดยไม่ปิดบัง
อุปสมบทสู่ร่มกาสาวพัสตร์
23 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน จึงเข้าสู่บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้าอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมี เจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตฺธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อเปิ่น ได้นามว่า “พระฐิตคุโณ”
ภายหลังอุปสมบท คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์หิ่ม ซึ่งท่านให้ความเมตตาอนุเคราะห์ ถ่ายทอดอักขระโบราณ เป็นรูปแบบยันต์ต่างๆ การลงอาคม อยู่ปรนนิบัติเป็นเวลา 4 ปี กระทั่งพระอาจารย์หิ่ม มรณภาพ
จากนั้น หลวงพ่อเปิ่นได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน) วัดบางมด ซึ่งได้อบรมแนะนำสั่งสอนพระกัมมัฎฐาน ศึกษาปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสีเป็นเวลา 1 ปีเศษ หลวงพ่อเปิ่นก็กราบลาเพื่อออกธุดงค์วัตรต่อไปทางภาคเหนือของประเทศไทย แล้วธุดงค์ลงใต้
พบอาจารย์ที่ไหน ก็จะเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาธรรมจากท่าน
เมื่อขึ้นมาที่สุราษฎร์ธานี ก็ได้กราบนมัสการ หลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกข์ และ หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
ระหว่างธุดงค์ หลวงพ่อเปิ่นได้พัฒนาวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านวัดทุ่งนางหรอกเป็นอย่างมาก
มีตำนานศรัทธา ปาฏิหาริย์เกี่ยวกับบารมีของหลวงพ่อ ที่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อครั้งหลวงพ่อธุดงค์วัตรแถวป่าใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อเคยประจันหน้ากับเสือมาแล้วกลางป่าลึก
ครั้งนั้นด้วยบุญญาธิการบารมีของหลวงพ่อที่จะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง จิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมี หลวงพ่อได้แผ่เมตตาบารมีแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายให้มีความสุขไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จนเสือยอมสยบ นั่งเฝ้าอยู่รอบกลดที่หลวงพ่อนั่งแผ่เมตตาอยู่นั่นเอง
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เสือ กลายเป็นสัตว์คู่บารมีหลวงพ่อเปิ่น มาจวบจนถึงปัจจุบันที่ถึงแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่เครื่องรางวัตถุมงคลของหลวงพ่อ ก็ยังคงพุทธคุณเข้มขลัง เป็นที่ต้องการของเหล่าเซียนพระเครื่อง ด้วยเป็นวัตถุมงคลหาได้ยากยิ่ง
ในภายหลังหลวงพ่อท่านมีอาการอาพาต จำเป็นต้องเข้ามารักษาตัวในเมือง จึงได้กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งใจไว้ว่าเมื่อหายป่วยดีแล้วก็จะกลับไปพัฒนาส่วนอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป
ประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านวัดโคกเขมา มาขอพระจากพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม ไปเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพัฒนาวัด คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้ หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2509
พระเครื่องรุ่นแรก แรร์ไอเทมของตลาดพระเครื่อง
เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา หลวงพ่อเปิ่นได้เริ่มพัฒนาวัดก่อสร้างเสนาสนะ ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เกิดด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่อเปิ่นในเวลานั้น
และที่วัดโคกเขมานี่เอง หลวงพ่อเปิ่นได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก นั่นคือ เหรียญหลวงพ่อเปิ่นรุ่นแรก พ.ศ.2509
ปัจจุบันพระเครื่องหลวงพ่อเปิ่นรุ่นนี้ของวัดโคกเขมาหายากมาก เพราะเป็นพระเครื่องที่มีตำนาน สร้างอภินิหารให้ผู้เช่าบูชาได้ประจักษ์ หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว วัดโคกเขมาจึงออกพระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ มาอีก ให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปได้เช่าหาบูชากัน เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัด
นอกวัตถุมงคลแล้ว การสักยันต์ ของหลวงพ่อก็เป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย โดยในสมัยที่หลวงพ่อเปิ่นยังมิได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ หลวงพ่อเปิ่นท่านลงมือสักลงอักขระเวทย์ด้วยองค์ท่านเอง มาภายหลังหลวงพ่อได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการสักให้แก่ศิษย์เป็นองค์สักแทน แล้วหลวงพ่อเปิ่นเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น
ต่อมา”หลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์” พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อจากหลวงปู่หิ่ม จนมรณภาพลงในปี พ.ศ. 2516 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระจึงว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปกราบอาราธนาหลวงพ่อเปิ่นให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ โดยในตอนแรกหลวงพ่อเปิ่นไม่ยอมมาด้วยสาเหตุว่าไม่มีใครดูแลวัดโคกเขมาซึ่งเป็นเหมือนกับวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ ภาระและความรับผิดชอบยังอยู่ที่ท่าน แต่ในที่สุดหลวงพ่อเปิ่นท่านก็กลับมาพัฒนาวัดบางพระ สมเจตนาของชาวบ้านบางพระ
ในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2523 ให้พระฎีกาเปิ่น วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม เป็น “พระครูฐาปนกิจสุนทร”
จากนั้นท่านก็ได้จัดทำพระเครื่องอีกมากมาย ทั้ง พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อเปิ่นขี่เสือ เหรียญและผ้ายันต์ต่างๆ เพื่อนำเงินมาบูรณะวัดบางพระและชุมชน จนวัตถุมงคลของวัดบางพระกลายเป็นของหายาก
ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2537 หลวงพ่อเปิ่นท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จาก พระครูฐาปนกิจสุนทร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น “พระอุดมประชานาถ” ด้วยการพัฒนาวัดและชุมชนมาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538 แก่องค์หลวงพ่อเปิ่น แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ ท่านไม่ทิ้งธุระทางการศึกษา พัฒนาสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มากเพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุ – สามเณรในพระพุทธศาสนา
ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545 เวลา 10.55 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช หลวงพ่อเปิ่นได้ละสังขารด้วยอายุ 79 ปี 54 พรรษา
และถึงแม้ท่านจะมรณภาพไป 20 กว่าปีแล้ว แต่พระเดชพระคุณของหลวงพ่อเปิ่นยังคงเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้มีจิตศรัทธาในองค์หลวงพ่อเสมอมา ทำให้วัตถุมงคลของหลวงพ่อแต่ละรุ่นยังคงมีราคาสูงด้วยเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดพระเครื่อง แต่สิ่งที่ประเมินค่ามิได้คือ คุณความดีที่หลวงพ่อได้สร้างไว้ ทำให้ชื่อเสียง หลวงพ่อเปิ่น ยังคงเป็นศูนย์รวมศรัทธาของเหล่าสาธุชนอยู่นั่นเอง